Sunday, January 20, 2008

การเล่นเปี๊ยะ : การส่งดนตรีจากดวงใจ


เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านในล้านนาไทยนิยมเล่นกันในสมัยหนึ่ง
ปัจจุปันได้สูญหายไปจนเกือบหมด
เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะ
ของผู้ประดิษฐ์และผู้เล่นเป็นอย่างมาก
เป็นเครื่องดนตรีระดับชาวบ้านที่ทำยากและราคาแพงที่สุด

เสียงของเปี๊ยะก็มีลักษณะไพเราะและโอ่อ่าอลังการ
กว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน
แม้ว่าเสียงของเปี๊ยะที่ได้รับการบันทึกเอาไว้
และนำมาเปิดสู่กันฟังก็ไม่ได้หมายมาจากยอดฝีมือในการเปี๊ยะ
ก็ยังสามารถสะกดคนฟัง ให้หลงใหลติดอกติดใจ
ในเสียงของเปี๊ยะได้ไม่น้อย

เปี๊ยะจึงสะท้อนภาพเอกลักษณ์ของสังคมล้านนาได้ค่อนข้างจะพิเศษ
และชัดเจนกว่าเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านนิยมกันโดยทั่วไป
อาจกล่าวได้ว่าเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากมากที่สุดชนิดหนึ่ง
ยากกว่าการเล่นกีตาร์คลาสสิค
เพราะเสียงของเปี๊ยะเป็นเสียงแบบเสียง overtone
ซึ่งทำให้เกิดตรงตามความตั้งใจได้ยาก

การเล่นเปี๊ยะของล้านนาเท่าที่พบและจากการสัมภาษณ์
ไม่ปรากฏว่ามีการขับร้องประกอบ และไม่ค่อยจะผสมวง

ความไพเราะของเสียงเปี๊ยะเป็นสิ่งที่เด่นอยู่มากแล้ว
คล้ายกับการเล่นดนตรีคลาสสิคอื่น ๆ
ที่ไม่จำเป็นต้องมีการขับร้องประกอบ




ล่องน่าน(พิณเปี๊ยะ)

ในอดีตกาล โอกาสที่จะเล่นเปี๊ยะ
เป็นการเล่นของพวกชายหนุ่มในยามออกไปเกี้ยวสาว
การเกี้ยวสาวเป็นประเพณีของบ่าวหรือหนุ่มทางเหนือ
พอตกค่ำหลังจากเสร็จไร่นา
บรรดาหนุ่ม ๆ มักไปหาสาวที่ตนกำลังหมายปองอยู่
ถ้าชายหนุ่มใดถือเปี๊ยะ ไปเล่นแล้ว
จะมีภาษีดีกว่าหนุ่มที่เล่นเครื่องดนตรี " พื้น ๆ "
อย่าง ขลุ่ย ปี่ หรือสะล้อ

อีกอย่างเวลาเล่นเปี๊ยะ จำต้องถอดเสื้อท่อนบนออก
แล้วเอากระโหลกของเปี๊ยะ ครอบไว้บริเวณหัวใจด้วย
และนี่คือที่มาของคำว่า " การส่งดนตรีจากดวงใจ "


กล่าวกันว่า เปี๊ยะ เป็นเครื่องดีดตระกูลพิณ
ที่ไพเราะ เสียงเบา และ เล่นยากที่สุดอย่างหนึ่ง
ในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหมดทั้งมวล

ช่างดนตรีทางเหนือพูดเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ง่ายว่า

"หัดเปี๊ยะ 3 ปี หัดปี่ 3 เดือน"

ก็เพราะการจะบรรเลงให้ได้ดีนั้น ต้อง

ใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นอย่างมาก
ผู้หัดจำต้องมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมาก่อน
การดีดก็ใช่ว่าจะธรรมดา

ต้องดีดด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "ป๊อก"
เพื่อให้เกิดเสียง คม ใส
ดังก้องกังวาลนานกว่าเสียงธรรมดา
ไม่เพียงมีวิธีดีดที่พิเศษ

เปี๊ยะยังมีโครงสร้างของระบบเสียงที่พิเศษอีกด้วย
คือ เสียงที่เกิดจากการ "ป๊อก"
จะส่งผ่านตามสายไปยังหัวเปี๊ยะ
แล้วไหลผ่าน ตามสายมายังกล่องเสียง
ซึ่งทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่งที่แนบอยู่กับหน้าอกผู้เล่น
คลื่นเสียงจะผ่านอากาศในช่องของกล่องเสียง

ไปสะท้อนกับแผ่นอก
แล้วสะท้อนออกมาทางช่องว่างระหว่างกะลากับหน้าอก
ผู้เล่นต้องปรับขนาดช่องว่างนี้
ด้วยมือซ้ายเพียง มือเดียว
เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและทุ้มแหลม
หนัก-เบา หรือโทนเสียงต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง

เสียงลักษณะนี้เราจะไม่พบ ในเครื่องดนตรีอื่นเลย


สาวไหมเชียงราย(พิณเปี๊ยะ)

หลายคนยอมรับว่า เปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก
มิใช่ว่าจะเล่นได้ทุกคน แม้จะพยายามฝึกหัดแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ในอดีต ชายหนุ่มผู้ใดที่เล่นเปี๊ยะได้
จึงดูดีกว่าหนุ่มที่เล่นเครื่องดนตรี "พื้นๆ"
อย่าง ขลุ่ย ปี่ สะล้อ ซึง ยามไปแอ่วสาวที่ตนหมายปอง

นอกจากเล่นเปี๊ยะตอนไปแอ่วสาวแล้ว
บรรดานัก "ป๊อก" เปี๊ยะทั้งหลาย
ก็หยิบมาเล่นเพื่อเสพสุนทรีย์ทางดนตรี
อันเกิดจาก ฝีมือของตนเองในยามว่าง
เพราะแม้จะมีเสียงอันไพเราะ
แต่ค่าที่เสียงของเปี๊ยะเบามากเมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น
จึงไม่เอื้อต่อการนำไป เล่นประกอบวง

เมื่อประมาณ 100 ปีมานี้
เกิดกรณีพิพาท คู่กรณีคู่กรณีฝ่ายหนึ่งใช้คัน เปี๊ยะ
ตีหัวคู่อริถึงแก่ความตาย
ทางการจึงประกาศ ห้ามถือเปี๊ยะไป "ป๊อก"
หรือดีดที่ไหน ๆ อย่างแต่ก่อน
ความนิยมจึงลดลงไปมาก

ทั้งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป
ค่านิยมในการแอ่วสาว อย่างแต่ก่อน
แบบเก่าก็เปลี่ยนไปด้วย
เปี๊ยะ ดี ๆ ซึ่ง เล่นยากอยู่แล้วก็หายาก
เสียง เปี๊ยะจึงค่อย ๆ ห่างหายไปจากสังคมคนเมืองมากขึ้นตามวันเวลา.....................

ปัจจุปันดูเหมือนชีวิตของเครื่องดนตรีโบราณและคลาสสิคชิ้นนี้
ใกล้จะถึงคราวสิ้นสุดเต็มที

แม้ว่า....ในช่วงเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากสถาบันต่างๆ
ต่างช่วยกันฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีคนกลับมาเล่นหรือให้ความสนใจ

...
พ่ออุ๊ยบุญมา ไชยมะโน
พ่ออุ๊ยแปง โนนจา

เครื่องดีดชนิดนี้ โดยมี พ่ออุ๊ยแปง โนจา ชาวเชียงราย(ปัจจุปันเสียชีวิตแล้ว)
พ่ออุ๊ยบุญมา ไชยมะโน ชาวลำปาง (เสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน)
พ่ออุ๊ยวัน กาเกิด นักดีดชาวเชียงใหม่เป็นครูคนสำคัญ


พิณเปี๊ยะ(ใหม่)


การฟื้นฟูเรียนรู้วิธีดีดเปี๊ยะ มีอุปสรรคมากมาย
เริ่มตั้งแต่ขาดแคลนนักดนตรีและผู้รู้ที่จะอบรมฝึกสอน
คนที่เล่นเป็นก็อายุมาก และหยุดเล่นไปนานกว่า 40 ปี แล้วทั้งสิ้น
ทำให้เล่นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ความรู้ที่มีอยู่ก็ไม่เป็นระบบ
เปี๊ยะที่ดีมีคุณภาพก็ขาดแคลน

การจะผลิตเปี๊ยะขึ้นมาใหม่ให้ได้คุณภาพดีเป็นเรื่องยาก
ส่วนของเก่าที่ดีก็มีน้อยลงไปทุกขณะ
เพราะคนเล่นมีน้อยจึงไม่เก็บรักษาไว้

(ภาพจาก www.chumbhot-pantip.org)
หัวเปี๊ยะซึ่งทำจากสำริดหล่อเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ
อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เปี๊ยะมีเสียงไพเราะ
ก็หายาก ราคาแพง
มีอยู่ก็แต่ในร้าน ค้าของเก่าหรือกรุของนักสะสมเสียส่วนมาก
การฝึกหัดเล่นให้เป็นนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง
เพียงแต่ฟังให้เข้าถึงความไพเราะก็ยากพอดู
เพราะเสียงก็เบา และท่วงทำนองก็แปลกหูคนฟังสมัยใหม่
อุปสรรคเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่
แต่ความหวัง ความพยายามในการปลุก ชีวิตก็ยังคงไม่หมดสิ้นเช่นกัน

(สุดารา สุจฉายา. เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน เชียงใหม่.กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สารคดี,กุมภาพันธ์ 2540.)

พร้าวไกวใบ(พิณเปี๊ยะ)

พิณเปี๊ยะ เกือบสูญหายไปจากโลกนี้แล้ว
ถ้าไม่มี อุ๊ยแปง โนจา อุ๊ยวัน ถาเกิด และอุ๊ยมา ไชยมะโน ช่วยกันฟื้นฟูรักษา
ท่วงทำนองและลีลาการเล่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
คนเล่นและคนฟังต้องมีสมาธิ
เสียงพิณเปี๊ยะที่แผ่วเบาและกังวาลนั้นเปรียบประดุจ
กระแสเสียงดนตรีที่เล่นให้เทวดาฟังนั่นเทียว


รับฟังเพลงบรรเลงจากพิณเปี๊ยะเพิ่มเติมได้ที่
http://www.cm77.com/song_online/song_music.php?page=2&type=
และ http://www.ketalanna.com/onlinemusic/index.php?m_type=5




ขอขอบคุณข้อมูลและลิงค์เพลงจาก www.cm77.com
ข้อมูลและภาพจากบล็อกของคุณ surgery
และทุกท่านผู้ช่วยกันอนุรักษ์เพลง ดนตรีศิลปินล้านนา